นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องปลวก มด และแมลงสาบ ที่พบในบ้านเรือน ที่พักอาศัย นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินอีกด้วย
การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกมาใช้เองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยขาดความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่ออันตรายได้รับพิษจากสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
เนื่องจากผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงที่มีขายตามท้องตลาดในปัจจุบันจะมีให้เลือกในหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบเป็นผงโรย สเปรย์ หรือเหยื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ การผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดปลวก มด และแมลง ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักนิยมใช้สารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มไพรีทรอยด์ กลุ่มคาร์บอเนต และกลุ่มฟีนิลไพราโซล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่กฎหมายระบุให้ต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครอง
เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกและแมลง กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างของผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกที่มีจำหน่ายในท้องตลาด รวม 32 ตัวอย่างมาตรวจสอบคุณภาพ พบว่าได้มาตรฐาน 25 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ78 และไม่ผ่านมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 22 และสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านมาตรฐานเนื่องมาจากมีปริมาณสารสำคัญไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กำหนดเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนของปริมาณสารสำคัญที่อยู่ในส่วนผสมของวัตถุอันตราย ตามหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ.2538 โดยพบว่าสารออกฤทธิ์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ร้อยละ 83.3 เป็นสารในกลุ่ม “ไพรีทรอยด์” ซึ่งเป็นสารอันตรายหากได้รับในปริมาณ 200-500 มล. ขึ้นไปจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีอาการล้า ปวดศีรษะ มึนงง และอาจทำให้เกิดอาการโคม่าภายใน 20 นาที กล้ามเนื้อกระตุกไม่พร้อมกัน และชัก จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบตัวอย่างครีมกำจัดจิ้งจก แมลงสาบ และแมงมุม ซึ่งเก็บตัวอย่างมาจากรถเร่ที่ตระเวนขายสินค้าตามหมู่บ้าน ในเบื้องต้นพบว่ามีลักษณะเป็นครีมข้น สีเขียว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย บรรจุอยู่ในกระป๋องพลาสติก ติดฉลากแจ้งชื่อผลิตภัณฑ์ วิธีการใช้ และราคา แต่ไม่ระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และเลขทะเบียนขออนุญาต เมื่อนำมา ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสารเคมีกำจัดแมลงประเภทคาร์บาเมต (Carbamate) ชนิดเมทโธมิล (Methomyl) จัดเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษร้ายแรง หากผู้บริโภคได้รับสารชนิดนี้เข้าไปโดยการสูดดมจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย หายใจติดขัด ถ้าสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หากสัมผัสถูกตาอาจจะทำให้ตาพร่ามัว และหากรับประทานอาจทำให้เสียชีวิตได้
อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับวิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกและแมลงอย่างปลอดภัยด้วยว่า ผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายกับทางสาธารณสุขแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีฉลากแสดงเครื่องหมาย วอส. และผู้บริโภคต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำที่แจ้งไว้ในฉลากอย่างเคร่งครัด
ส่วนข้อแนะนำสำหรับการใช้ครีมกำจัดจิ้งจก แมลงสาบ และแมงมุมนั้น เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคไม่ควรใช้มือสัมผัสสารโดยตรง ควรสวมถุงมือหรือใช้วัสดุอื่นช่วยในการป้ายสาร และควรเปิดให้มีการระบายอากาศบริเวณที่ป้ายสารไว้เพื่อขจัดไอพิษของสารชนิดนี้ และต้องเก็บให้พ้นการเอื้อมถึงของเด็ก
ที่มา นสพ.บ้านเมือง 3/12/52